cw.in.th > คลังความรู้ > ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ที่ดี
03-Mar-2017

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ที่ดี

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ สิ่งที่ผู้ออกแบบเว็บไซต์จำเป็นต้องเตรียมก่อนการออกแบบจริง

ขั้นตอนการพัฒนาเว็บไซต์ 
การออกแบบเว็บไซต์ให้มีข้อมูลและรายละเอียดที่ครบถ้วน และครอบคลุมกับความต้องการ เว็บไซต์มีความสวยงาม อีกทั้งง่ายต่อการดูและปรับเปลี่ยนข้อมูลในภายหลังนั้น ควรมีการวางแผนในการพัฒนาเว็บไซต์ที่ดี ซึ่งพอสรุปขั้นตอนได้ดังนี้คือ

1. กำหนดวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ การพัฒนาเว็บไซต์ ควรเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ให้เห็นภาพชัดเจนว่าต้องการนำเสนอหรือต้องการให้เกิดผลอะไร เมื่อทราบวัตถุประสงค์แล้วก็จะสามารถกำหนดรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เช่นลักษณะหน้าตาและสีสันของเว็บเพจ

2. กำหนดกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย เมื่อทราบวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเว็บไซต์แล้ว ขั้นตอนต่อมาจะเป็นการกำหนดกลุ่มผู้ชมเป้าหมายที่จะเข้าชมและใช้บริการเว็บไซต์นี้ เพื่อออกแบบเว็บไซต์ให้ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเนื้อหา โทนสี กราฟิก และเทคโนโลยีที่นำมาสนับสนุนการสร้างเว็บไซต์

3. เตรียมแหล่งข้อมูล เนื้อหาหรือข้อมูลนับเป็นสาระสำคัญของการสร้างเว็บไซต์ ดังนั้นผู้ออกแบบเว็บไซต์จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าต้องนำข้อมูลจากแหล่งใดบ้าง เพื่อให้ข้อมูลบนเว็บไซต์สมบูรณ์ที่สุด

4. เตรียมทักษะหรือบุคลากร การสร้างเว็บไซต์ต้องอาศัยทักษะหลายด้าน เช่นในการเตรียมเนื้อหา การออกแบบกราฟิก เขียนโปรแกรม และการดูแลเว็บเซิร์ฟเวอร์ เป็นต้น ดังนั้นเว็บไซต์ที่มีข้อมูลและเนื้อหามาก ก็อาจจะต้องใช้บุคลากรหลายคนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน แต่สำหรับเว็บไซต์ขนาดเล็กที่ต้องดูแลเพียงคนเดียว ผู้ออกแบบจึงจำเป็นต้องมีความรู้ในหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเว็บไซต์

5. เตรียมทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่นโปรแกรมสำหรับสร้างเว็บไซต์ โปรแกรมสำหรับสร้างกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว และมัลติมีเดีย โปรแกรมยูทิลิตี้ โปรแกรมสร้างฐานข้อมูล เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องเตรียมจดทะเบียนโดเมนเนม และหาผู้ให้บริการรับฝากเว็บไซต์ (Web Hosting)

 เนื้อหาที่ควรมีในเว็บไซต์ 

การศึกษาตัวอย่างจากเว็บไซต์ทั่วไป จะช่วยให้เรามองเห็นว่าในเว็บไซต์ของเราควรมีเนื้อหาอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บไซต์นั้นไม่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะนำเสนอและจุดเด่นที่เราต้องการให้มี ซึ่งจะทำให้รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละเว็บไซต์แตกต่างกันออกไป แต่หลัก ๆ สำคัญแล้ว พอสรุปได้ว่าข้อมูลพื้นฐานที่ควรมีในเว็บไซต์ควรประกอบด้วย

1. ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท องค์กร หรือผู้จัดทำ (About Us) คือข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของเว็บไซต์ เพื่อบอกให้ผู้ชมรู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน และต้องการนำเสนออะไร เช่น วัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ ประวัติความเป็นมา สถานที่ตั้งของหน่วยงาน เป็นต้น

2. รายละเอียดของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Product/Service Information) คือข้อมูลหลักที่เรานำเสนอในเว็บไซต์ ซึ่งหากเป็นเว็บไซต์ทางธุรกิจ ผู้เข้าชมอาจต้องการรู้รายละเอียดของผลิตภัณฑ์หรือบริการในเว็บไซต์ของเรา เพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อสินค้าหรือบริการ แต่หากเป็นเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ ส่วนนี้ก็อาจจะประกอบด้วยบทความ ภาพกราฟิก มัลติมีเดีย และการเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์อื่นเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม

3. ข่าวสาร (News / Press Release) อาจเป็นข่าวสารที่ต้องการส่งถึงบุคคลทั่วไปหรือสมาชิก เพื่อให้รับรู้ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบริษัทหรือเว็บไซต์ของเรา เช่นการเปิดตัวสินค้าบริการใหม่ ๆ โปรโมชั่นสินค้าประจำเดือน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

4. คำถามคำตอบ (Frequently Asked Question) คำถามคำตอบมีความจำเป็น เพราะผู้เข้าชมบางส่วนอาจไม่เข้าใจข้อมูลหรือมีปัญหาที่ต้องการสอบถาม การติดต่อทางอีเมล์หรือช่องทางอื่น แม้ว่าจะทำได้แต่เสียเวลา ดังนั้นเราควรคาดการณ์หรือรวบรวมคำถามที่เคยตอบไปแล้วใส่ไว้ในเว็บเพจ ซึ่งผู้เข้าชมที่สงสัยจะสามารถเปิดดุได้ทันที นอกจากนี้ อาจมีเว็บบอร์ดสำหรับให้ผู้ดูแลเว็บไซต์คอยตอบคำถาม รวมทั้งอาจเปิดให้ผู้เข้าชมด้วยกันก็ได้

5. ข้อมูลในการติดต่อ (Contact Information) เพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ของเราที่เกิดข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อกับเราได้ ควรจะระบุอีเมล์แอดเดรส (E-mail Address) ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ที่ติดต่อได้ไว้ ด้วย รวมทั้งอาจมีแผนที่สำหรับลูกค้าที่ต้องการติดต่อโดยตรง

 ส่วนประกอบของหน้าเว็บเพจ  

โดยทั่วไปแล้ว หน้าเว็บเพจจะแบ่งออกเป็นส่วนหลัก ๆ ดังนี้คือ

1. ส่วนหัว (Page Header) อยู่ตอนบนสุดของหน้าเว็บเพจ เป็นบริเวณที่สำคัญที่สุด เนื่องจากผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์จะมองเห็นก่อนบริเวณอื่น ส่วนใหญ่นิยมใช้วางโลโก้ ชื่อเว็บไซต์ ป้ายโฆษณา ลิงค์สำหรับการติดต่อ หรือลิงค์ที่สำคัญ และระบบนำทาง

2. ส่วนเนื้อหา (Page Body) อยู่ตอนกลางหน้า ใช้แสดงเนื้อหาภายในเว็บเพจซึ่งอาจประกอบไปด้วยข้อความ ภาพกราฟิก ตารางข้อมูล และอื่น ๆ บางครั้งเมนูหลักหรือเมนูเฉพาะกลุ่ม อาจอยู่ในส่วนนี้ก็ได้ โดยมักวางไว้ด้านซ้ายมือสุด เนื่องจากผู้เข้าชมจะมองเห็นได้ง่าย

3. ส่วนท้าย (Page Footer) อยู่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บเพจ ส่วนใหญ่จะนิยมใช้วางระบบนำทางภายในเว็บไซต์แบบที่เป็นลิงค์ข้อความง่าย ๆ นอกจากนี้ก็อาจจะมีชื่อของเจ้าของเว็บไซต์ ข้อความแสดงลิขสิทธิ์ และอีเมล์แอดเดรส (E-mail Address) ของผู้ดูแลเว็บไซต์

4. แถบข้าง (Side Bar) ปัจจุบันจะนิยมออกแบบด้านข้างของหน้าเว็บเพจให้น่าสนใจ เพื่อใช้วางป้ายแบนเนอร์ หรือลิงค์แนะนำเกี่ยวกับบริการของเว็บไซต์ เป็น

 ขั้นตอนการออกแบบเว็บไซต์ 

หลังจากที่ได้ศึกษาวัตถุประสงค์ และจัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำมาสร้างเว็บไซต์ ในขั้นตอนนี้เป็นการนำข้อมูลทั้งหมดมาออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งพอสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้คือ

1. กำหนดโครงร่างของเว็บไซต์ (Site Map) ในการออกแบบเว็บไซต์ ผู้ออกแบบควรเริ่มด้วยการกำหนดผังหรือโครงร่างของเว็บไซต์ (Site Map) ก่อนว่าประกอบด้วยหน้าเว็บเพจมากน้อยเพียงใด เช่นจากรูปเป็นตัวอย่างเว็บไซต์ของร้านขายหนังสือ ซึ่งประกอบด้วยเว็บเพจหลักจำนวน 5 หน้า จึงกำหนดเป็นโครงร่างของเว็บไซต์ดังรูป

2. กำหนดการเชื่อมโยงระหว่างเว็บเพจ การเชื่อมโยงระหว่างเว็บเพจ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะทำให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ของเราสะดวกในการเลือกดูข้อมูลภายในเว็บไซต์ของเราได้สะดวก จากตัวอย่างในรูปที่ 1.4 จะเห็นว่าหน้าเว็บเพจ index.html มีการเชื่อมโยงไป 4 หน้าเว็บเพจ คือ computer.html cdrom.html general.html และ children.html และหน้าเว็บเพจทั้ง 4 หน้านี้ ก็มีการเชื่อมโยงไปมาหากันได้ทั้งหมด

3. ออกแบบเว็บเพจแต่ละหน้าภายในเว็บไซต์ ในขั้นตอนนี้เป็นการออกแบบเค้าโครง หน้าตา และลักษณะทางด้านกราฟิกของหน้าเว็บเพจแต่ละหน้า โดยอาจออกแบบคร่าว ๆ ในกระดาษ จากนั้นใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ เช่น Adobe Photoshop หรือ Macromedia Fireworks เพื่อออกแบบรูปภาพกราฟิกต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้บนหน้าเว็บเพจ

4. สร้างเว็บไซต์ด้วย Dreamweaver 8 หลังจากที่ได้จัดเตรียมข้อมูลพร้อมทั้งภาพกราฟิกต่าง ๆ ที่จะจัดทำเว็บไซต์ไว้แล้ว ในขั้นตอนต่อไปนี้จะเป็นขั้นตอนที่นำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำเว็บไซต์ด้วยโปรแกรม Macromedia Dreamweaver 8 โดยมีการทดสอบก่อนนำออกเผยแพร่สู่ระบบอินเตอร์เน็ต

5. ลงทะเบียนขอพื้นที่เว็บไซต์ หลังจากออกแบบและสร้างเว็บไซต์จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขั้นตอนถัดไปก็คือการนำข้อมูลทั้งหมดออกเผยแพร่บนระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อให้บริการแก่ผู้เข้าชม โดยจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดไปไว้บนเว็บไซต์ที่ให้บริการรับฝากข้อมูลหรือที่เรียกว่า Web Hosting ซึ่งมีทั้งที่ให้บริการฟรี และต้องเสียค่าบริการ

6. อัพโหลดเว็บไซต์ หลังจากที่ได้สร้างหน้าเว็บเพจจนครบทุกหน้า และได้ลงทะเบียนขอมีพื้นที่เว็บไซต์เรียบร้อยแล้วต่อไปจะเป็นขั้นตอนของการนำข้อมูลทั้งหมดไปวางบนเว็บไซต์ที่เราได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งเราเรียกว่าการอัพโหลด (Upload) เพื่อให้คนทั่วโลกสามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้


8525 View

ดูคลังความรู้ทั้งหมด





กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai  Thailand Web Stat
Scroll To Top