ภาษีน่ารู้ฉบับร้านค้าออนไลน์ ปี 64 พ่อค้าแม่ค้าต้องจ่ายภาษีออนไลน์อย่างไร
ไขปัญหากังวลใจของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่กำลังกังวลเรื่องภาษี ว่าสำหรับคนขายออนไลน์ที่ไม่ได้ยื่นจดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบบริษัทจะต้องยื่นภาษีอะไรบ้างและต้องยื่นเมื่อไหร่ ภาษีน่ารู้ฉบับร้านค้าออนไลน์ มีคำตอบมาฝากคุณ
เงินที่ได้รับจากการทำธุรกิจหรือการขายของออนไลน์ นับเป็นเงินได้ประเภทหนึ่งซึ่งแยกจากรายได้ประจำและต้องนำไปคำนวณรวมกับการยื่นภาษีประจำปี ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้ยื่นจดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบบริษัทจะต้องยื่นภาษีกับกรมสรรพากร 2 ครั้งใน 1 ปี ได้แก่
ขายออนไลน์แบบไหนต้องเสียภาษี
รายได้ที่เกิดจากการขายของออนไลน์ผ่าน Social Media Platform และ Market Place Platform เป็นเงินได้ประเภทที่ 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่เปิดร้านขายของออนไลน์โดยส่วนใหญ่ เพราะเป็นเงินได้จากการค้าขายที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม
เงินเข้าบ่อยๆ ต้องเสียภาษีไหม
ปัจจุบันใครๆ ก็หันมาใช้อีเพย์เมนต์ (e-payment) โดยธนาคารจะต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากรหากเข้าข่าย “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” หรือ ธุรกรรมการฝากเงิน การรับโอนเงิน (เฉพาะเงินโอนเข้าบัญชี) รวมกันทุกบัญชีใน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคมภายในปีนั้นๆ โดยธุรกรรมลักษณะเฉพาะนี้ไม่ได้กำหนดเฉพาะคนขายของออนไลน์เท่านั้น แต่ใช้กับทุกคน
- จำนวนเงินโอนเข้าบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป โดยไม่กำหนดยอดรวมธุรกรรมเงินโอนเข้าบัญชี
- จำนวนเงินโอนเข้าบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป โดยยอดรวมธุรกรรมเงินโอนเข้าบัญชีตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป
ถ้าเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งธนาคารจะส่งข้อมูลให้สรรพากร โดยผู้ที่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด จึงควรเตรียมความพร้อมด้วยการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างถูกต้อง เก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ และยื่นแสดงรายการภาษีให้ครบถ้วน
1. ภาษีบุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90
บุคคลที่มีเงินได้ทุกคนต้องยื่นภาษีบุคคลประจำปีกับกรมสรรพากร ถึงแม้พ่อค้าแม่ค้าจะไม่มีรายได้จากงานประจำ แต่รายได้จากการขายของออนไลน์นับเป็นเงินได้ในมาตรา 40 (8) หรือเงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่เงินที่ได้จากการทำอาชีพอิสระอย่างการขายของออนไลน์หรือการขายสินค้าแบบซื้อมาขายไป การขายอสังหาริมทรัพย์ การพาณิชย์ ฯลฯ คนขายออนไลน์ต้องยื่นภาษีโดยการสรุปรายได้ทั้งหมดจากปี 2563 หรือรายได้ทั้งหมดจากช่วงปีที่ผ่านมา
- ซึ่งมีสูตรการคำนวณคือ “เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อนภาษี = เงินได้สุทธิ”
- ผู้มีเงินได้ในมาตรา 40 (8) สามารถคิดค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ได้
2. ภาษีกลางปี ภ.ง.ด. 94
เนื่องจากคนขายออนไลน์จัดเป็นผู้มีเงินได้ในมาตรา 40 (8) จึงต้องมีการยื่นภาษีกลางปี ภ.ง.ด. 94 อีกครั้งซึ่งจะเป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดตั้งแต่เดือน 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มที่เข้าข่ายต้องยื่นภาษีนี้ก็คือ คนโสดรายได้เกิน 60,000 บาท คนมีคู่สมรสได้เกิน 120,000 บาท ซึ่งไม่รวมจากรายได้จากงานประจำ ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีที่จะช่วยให้จ่ายภาษีได้ถูกลง หากพ่อค้าแม่ค้าไม่ยื่นภาษีกลางปี ภ.ง.ด. 94 รายได้ทั้งหมดจะถูกนำไปรวมกับ ภาษีบุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 และต้องจ่ายภาษีแพงขึ้นั่นเอง
คนขายออนไลน์ต้องมีรายได้เท่าไหร่จึงจะต้องจ่ายภาษีออนไลน์
รายได้สุทธิ | ภาษีที่ต้องจ่าย |
0 – 150,000 | *ได้รับการยกเว้นภาษี* |
150,001 – 300,000 | 5% |
300,001 – 500,000 | 10% |
500,001 – 750,000 | 15% |
750,001 – 1,000,000 | 20% |
1,000,001 – 2,000,000 | 25% |
2,000,001 – 5,000,000 | 30% |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% |
รายการใช้ลดหย่อนภาษีที่คนขายออนไลน์ต้องรู้
รายการลดหย่อน | อัตราลดหย่อน |
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว | 60,000 บาท |
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส | 60,000 บาท |
3. ค่าลดหย่อนบุตร | บุครคนแรกลดหย่อน 30,000 บาท บุตร 2 คนขึ้นไป 60,000 บาท |
4. ค่าลดหย่อนบิดามารดา | หากมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้ค่าลดหย่อนคนละ 30,000 บาท |
5. ค่าลดหย่อนผู้พิการและทุพพลภาพ | 60,000 บาท |
6. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด | 60,000 บาท |
หมวดรายการลดหย่อนหมวดประกันและการลงทุน
รายการลดหย่อน | อัตราลดหย่อน |
1. ประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์ | สูงสุด 100,000 บาท ตามที่จ่ายจริง |
2. ประกันสุขภาพบิดามารดา | สูงสุด 15,000 บาท |
3. ประกันสุขภาพตัวเอง | สูงสุด 25,000 บาท |
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ | สูงสุด 200,000 บาท |
5. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ | สูงสุด 10,000 บาท |
6. กองทุนกบข.และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน | ไม่เกิน 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท |
7. เงินสะสมจากกองทุนการออมแห่งชาติ กอช. | สูงสุด 13,200 บาทต่อปี |
8. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) | ไม่เกิน 30% ของรายได้ สูงสุด 500,000 บาท |
9. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) | ไม่เกิน 30% ของรายได้ สูงสุด 500,000 บาท |
10. กองทุนการออมพิเศษ (SSFX) | สูงสุด 200,000 บาท |
11. เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ | ไม่เกิน 15% ของเงินได้ สูงสุด 200,000 บาท |
12. เงินประกันสังคม | 5,850 บาท |
รายการลดหย่อนหมวดอสังหาริมทรัพย์
รายการลดหย่อน | อัตราลดหย่อน |
1. ดอกเบี้ยบ้าน | สูงสุด 100,000 บาท |
2. โครงการซื้อบ้านครั้งแรก | 120,000 บาท |
3. ช้อปดีมีคืน | สูงสุด 30,000 บาท (รายการสินค้าที่ซื้อตั้งแต่ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 63 |
หมวดรายการเงินบริจาค
รายการลดหย่อน | อัตราลดหย่อน |
1. เงินบริจาคทั่วไป | 10% ของรายได้หลังลดหย่อน |
2. เงินบริจาคพรรคการเมือง | สูงสุด 10,000 บาท |
3. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ | 2 เท่าจากเงินบริจาค ที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน |
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สามารถส่งเอกสารยื่นภาษีได้ที่ กรมสรรพากร หรือยื่นออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th โดยการยื่นภาษีทั้ง 2 จะมีระยะเวลา ดังนี้
ระยะเวลายื่นภาษีบุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90
- ยื่นภาษีแบบเอกสารได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 มีนาคม 2564
- ยื่นภาษีแบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 มิถุนายน 2564
ระยะเวลายื่นภาษีกลางปี ภ.ง.ด. 94
- ยื่นภาษีแบบออนไลน์ได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 – 31 กันยายน 2564
หนทางรับมือกับการยื่นภาษีประจำปีของร้านค้าออนไลน์ก็คือการจัดทำบัญชี รายรับรายจ่ายประจำปีอย่างแม่นยำ เพื่อที่จะนำรายละเอียดนั้นมาใช้ยื่นภาษีประจำปีได้อย่างแม่นยำ ซึ่งคนขายออนไลน์สามารถนำระบบจัดการบัญชีหรือระบบจัดการหลังบ้านที่มีระบบรายงานการขายทั้งเงินเข้าและเงินออกเข้ามาช่วยจัดการ เพียงเท่านี้ร้านค้าก็จะไม่ต้องเหนื่อยเรื่องการจดบัญชีอีกต่อไป