บล็อก (Blog) คือ บทความเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของคุณอย่างไม่เป็นทางการ
มีความน่าสนใจ เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเขียนได้หลายรูปแบบ เช่น การเขียนรีวิวสินค้า บอกเล่าข้อดีของสินค้า ให้ความรู้อื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยการเขียนบล็อกให้ช่วยเสริมอันดับของเว็บไซต์บน Google มีหลักการง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
- หัวข้อน่าสนใจ และอย่าลืมใส่ “คีย์เวิร์ด” ลงไปด้วย เมื่อมีการค้นหาคีย์เวิร์ดของสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์ Google จะนำเว็บที่มีหัวข้อบทความ รวมถึงเนื้อหาภายในบล็อกที่มีคีย์เวิร์ดตรงกับคำค้นหาขึ้นมาแสดง เช่น คุณทำธุรกิจขายแฟรนไชส์กาแฟสด เมื่อคุณเขียนบล็อก หัวข้อของบทความอาจเป็น ‘มีธุรกิจของตนเองได้ง่ายๆ ด้วย แฟรนไชส์กาแฟสด’ และเนื้อหา มีการเอ่ยถึงคำว่า แฟรนไชส์กาแฟสด, กาแฟแฟรนไชส์, เปิดร้านกาแฟ ฯลฯ โดยที่หัวข้อต้องดึงดูดความสนใจ ก็จะมีโอกาสที่บล็อกจะไปปรากฎอยู่บนหน้าผลการค้นหา ในเวลาที่ผู้บริโภคทำการเสิร์ชมากขึ้นค่ะ
- เนื้อหาแต่ละหน้าของบล็อก ควรมีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว ถึงแม้ว่าธุรกิจของคุณจะขายสินค้าหรือบริการมากกว่า 1 อย่าง แต่การเขียนบทความแต่ละบทความ ควรจะเจาะจงพูดถึงสินค้าหรือบริการ รายการเดียวเท่านั้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายไม่เกิดความสับสนในขณะที่อ่าน พยายามเขียนเนื้อหาที่จะช่วยแก้ปัญหา และตอบคำถามที่กลุ่มเป้าหมายต้องการทราบมากที่สุด จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับเนื้อหาที่มีคุณภาพ ในขณะที่คุณก็มีโอกาสเพิ่มอันดับบน Google ด้วยค่ะ
- รูปภาพบนเนื้อหา ก็ช่วยเพิ่มอันดับการค้นหาได้ การใส่รูปภาพประกอบเนื้อหา จะช่วยดึงดูดสายตาและทำให้เว็บไซต์น่าสนใจ แต่สิ่งหนึ่งที่หลายท่านอาจมองข้ามไปก็คือ การใส่คีย์เวิร์ดลงไปในรูปภาพประกอบบทความ เพราะ Google ไม่สามารถอ่านคำพูดที่อยู่ในภาพได้ เช่น ชื่อรุ่นของสินค้าในภาพ หรือ ชื่อยี่ห้อสินค้า เป็นต้น แต่อ่าน ALT text หรือข้อความอธิบายรูปภาพได้ ซึ่งการใส่ ALT text ก็เพื่อบอก Google ให้รู้ว่าภาพนั้นคือภาพอะไร มีส่วนช่วยให้อันดับของเว็บไซต์ได้อันดับที่ดีขึ้น
- อัพเดทเนื้อหาบนบล็อกให้สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคบนเสิร์ชเอนจิน หรือ โซเชียลมีเดีย ก็ล้วนแต่มองหาคอนเทนต์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอยู่เสมอ Google มีการเข้ามาเก็บข้อมูลการอัพเดทของเว็บไซต์ เพื่อให้มีข้อมูลใหม่ ๆ ติดอันดับให้ผู้บริโภคได้เลือกอ่าน ถ้าเว็บไซต์มีบทความที่ตรงกับคำค้นหา เว็บก็จะสามารถปรากฎบนหน้าผลการค้นหาได้ ซึ่งหากคุณเขียนบล็อกลงในเว็บไซต์สม่ำเสมอ ความถี่ในการที่ Google จะเข้ามาเก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ก็จะสม่ำเสมอ ทำให้บทความของคุณถูกอัพเดทลงในหน้าผลการค้นหาของ Google ได้ดีขึ้นค่ะ
- เผยแพร่เนื้อหาลงในแพลตฟอร์มอื่น ๆ หลังจากการเขียนบล็อก และการทำ Content Marketing คุณควรสร้างตัวตนเอาไว้ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ และเผยแพร่บล็อกด้วยการแชร์ลิงก์จากเว็บไซต์ไปยังแพลตฟอร์มเหล่านี้ อาทิเช่น โพสต์ลงใน Facebook Page, Twitter หรือ Instagram ของธุรกิจ โปรโมทผ่านเว็บบอร์ดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบล็อก หรือ ทำโฆษณาออนไลน์บน Facebook หรือGoogle ก็สามารถเพิ่มโอกาสที่กลุ่มเป้าหมายจะคลิกเข้ามายังเว็บไซต์ และสิ่งนี้เองที่จะช่วยเพิ่มอันดับของเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
หลักการเขียนBlog
- คิดก่อนว่าจะเล่าอะไร อย่าเพิ่งคิดเรื่องเงินก่อน – สมัยนี้ Blogger เป็นหนึ่งในส่วนผสมทางการตลาดไปแล้ว คนที่เริ่มจะมีชื่อเสียงขึ้นมาจึงได้รับการติดต่อจากแบรนด์ เจ้าของสินค้าและบริการ และเอเยนซี่ บางคนพอได้รับการปฎิบัติดีๆ มากๆ เข้า ก็เลยเริ่มคิดว่าจะต้องทำงานเป็นรูปแบบธุรกิจมากขึ้น การเขียนทุกครั้งจึงต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่ามันก็ไม่เป็นไรที่เราจะคิดเรื่องเงินบ้าง แต่โดนธรรมชาติของ Blog เราควรจะเขียนได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีผลประโยชน์เข้ามาข้องเกี่ยว เพราะวันแรกที่เราเริ่มเขียน Blog นั้นเราเริ่มมาจาก เรารู้สึกว่าเราสนุกกับมันไม่ใช่หรอกหรือ?
- เริ่มจากเป้าหมายที่ชัดเจน – ไม่แน่ใจว่า Blogger ทุกคนมีวิธีคิด ‘เริ่มต้นเขียน’ เหมือนกันหรือเปล่า แต่สมัยผมเริ่มใหม่ๆ ผมจะเขียนอะไรผมจะต้องรอแรงบันดาลใจ จากนั้นก็ค่อยๆ ไหลเลื้อยไปเรื่อยๆ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเขียนอะไร เรื่องที่เขียนจึงมักจะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับปัจจุบันขณะ ตอนนั้นมีอารมณ์อะไรก็เขียนไปอย่างนั้น ข้อดีอย่างหนึ่งของการ ‘เลื้อย’ คือ งานจะออกมาสด และได้อารมณ์ขณะนั้นจริง แต่มันมักจะย้วยจนออกนอกลู่นอกทาง ไม่ได้ประเด็นที่เด็ดขาด กว่าจะปรับใหม่ให้ลงล็อกเข้าประเด็นที่น่าสนใจก็เสียเวลาไปเยอะมาก ดังนั้นสำหรรับคนที่อยากจะเขียนเป็นอาชีพ ผมแนะว่าคุณคิดประเด็นออกมาให้จบเลยว่าจะพูดอะไรบ้าง จะประหยัดเวลาเขียนมากกว่า
- ย่อหน้า เว้นวรรค ให้เหมาะสม ดูทั้งบนมือถือ และบนจอ desktop – สมัยนี้คนอ่านเรื่องของเราบนมือถือมากกว่าบน desktop ครับ ย่อหน้าบ่อยๆ เว้นช่องไฟกันนะครับ เขาจะได้อ่านง่ายขึ้น เขียนแต่ละวรรคอย่าเยอะมากครับ 2-3 บรรทัดต่อย่อหน้าก็น่าจะเพียงพอ
- ระวังคำซ้ำ หาก ที่ ซึ่ง นี้ แล้ว – คำซ้ำน่ะครับ คงไม่ต้องบอกอะไรกันมาก อ่านซ้ำไปซ้ำมามันทำให้อ่านไม่รื่น
- เขียนจากเสียงและสำนวนในหัวของเราเอง – ก่อนโพสต์ให้เราลองอ่านออกเสียงย้ำว่าไอ้ที่เพิ่งเขียนไปมันใช่ตัวเราหรือเปล่า ถ้าอ่านแล้วลื่นปรื๊ดๆ ไม่ติดขัดเลยก็ถือว่าใช่ ถ้าอ่านออกเสียงตามสิ่งที่เราเขียนแล้วฟังไม่รื่นหู ก็จงเขียนใหม่
- อย่าเยิ่นเย้อ พรรณนามาก ตรงประเด็น – อันนี้ชัดเจนครับ แต่เชื่อสิอันนี้จริงๆ ยากที่สุดเลย เพราะใครที่เขียนหนังสือมานานๆ จะติดพวกสร้อยคำ หรือคำขยายเยอะมาก ทุกวันนี้ผมยังโดนน้องๆ ในทีม thumbsup บ่นว่าภาษาพี่เยิ่นเย้อมากๆ เลย :p (อันนี้เข้าข่ายทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ต้องเตือนไว้ให้ทราบทุกคน!)
- เขียนเป็น shot จบในตอนเขียนเป็นข้อๆ – พวกวิธีเอาตัวเลขขึ้นมาก่อน เช่น 10 วิธีในการลงจากคาน, 5 วิธีจีบสาวย่างไรไม่แห้ว, คน 10 แบบที่ไม่ควรคบ พวกนี้ทำให้คนคาดหวังได้ว่าจะมีเนื้อหาให้อ่านมากน้อยแค่ไหน และอ่านง่ายครับ อันนี้คิดว่าหลายๆ คนคงใช้กันอยู่แล้ว แต่ถ้านึกวิธีเขียนแบบนี้ไม่ออก ลองอ่านบทความเก่าของผมอันนี้ได้
- ทำ bullet point – ในบทความบทหนึ่ง คนอ่านบนหนังสือมันไม่ยากหรอกครับ แต่อ่านออนไลน์ซึ่งมี pixel ไม่ละเอียดมันอ่านยาก ดังนั้นแบ่งทำพวก bullet point สิครับ มันอ่านง่าย
- อย่าเล่าด้วยภาษาเฉพาะในวงการ – เขียนให้คนในวงการดิจิทัลอ่านกันเองก็คงง่าย แต่เขียนให้คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่วงการดิจิทัลอ่านมันต้องให้กำลังภายในนิดนึง ถ้าเรื่องของคุณเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ก็คงไม่ลำบากอะไร แต่ถ้าคุณเป็น Blogger สายเฉพาะทางก็ต้องระมัดระวังหน่อยครับ
- ระวังเรื่องสะกดผิด – อันนี้ตรงตัว ถ้าคุณทำมาหากินด้วยตัวหนังสือ คำผิดเล็กๆ น้อยๆ คุณก็ไม่ควรจะมีครับ ถ้ามีใครทักท้วงก็รีบแก้เสีย
- อย่าเขียนแต่ Concept เขียนประสบการณ์ด้วย – บทความที่มี Concept นั้นดี แต่ถ้าไม่มีตัวอย่างจากประสบการณ์จริง คนอ่านจะสัมผัสได้ครับว่ามันแห้งไม่มีมิติ
- เขียนแบบเล่าเรื่อง – คนชอบฟังเรื่องเล่า ชอบการยกตัวอย่าง ถ้าเล่าเป็นเรื่องออกมาได้ หรือยกกรณีศึกษาได้มันจะเห็นภาพชัด
- เล่าเหมือนนิยายด้วยเครื่องหมายคำพูด – เวลาเล่าเรื่องอะไร ถ้าในเรื่องมีตัวละคร และคำๆ นั้นออกมาจากปากตัวละคร ลองใส่เครื่องหมายคำพูดเข้าไปสิครับ มันจะดูน่าอ่านมากขึ้น เช่น ”พาผมเดินไปที่ม๊อบหน่อยสิครับ” David เอ่ยปากออกมาอย่างแรกหลังจากทักทายกันเสร็จ ผมถามเขายิ้มๆ ว่าทำไมถึงอยากไป David บอกว่า “ตอนผมตัดสินใจมากรุงเทพฯ เพื่อนผมทุกคนบอกว่าผมบ้า เพราะข่าวมันออกไปทั่วโลกว่าเหตุการณ์มันรุนแรงมากขึ้นทุกที แต่ผมติดตาม Twitter ของ @RichardBarrow เลยรู้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครๆ คิด” และนี่คือภาพที่ผมถ่ายให้ David วันนั้น
- เล่าเรื่องด้วยภาพ และวิดีโอ – สมัยก่อนหนังสือมีพื้นที่จำกัด เราจึงใส่ภาพกับวิดีโอได้จำกัด สมัยนี้ Blog เป็นสื่อที่โต้ตอบได้ ใส่ภาพใส่วิดีโอได้ไม่อั้น ใส่เข้าไปก็ยิ่งทำให้คนอ่านเห็นภาพมากขึ้นครับ
- เริ่มให้เร้าใจ ตอนกลางน่าติดตาม และจบให้น่าจดจำ – อันนี้เป็นสูตรการเขียนเรียงความทั่วๆ ไปครับ แต่ก็ใช้มาได้ตลอด การขึ้นต้น ถ้าเราขึ้นให้เร้าใจ มีการตั้งคำถาม เช่น ”คุณเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหานี้ใช่หรือไม่?” (คุ้นๆ จอร์จ กับซาร่าไหมครับ?) ตอนกลางต้องลื่นไหลน่าติดตาม มีประเด็นดีๆ นำเสนอตลอด และท้ายสุดจบให้น่าจดจำ บางทีอาจจะใช้คำคมๆ หรือใช้ประโยคอะไรที่มันตอกย้ำให้คนอ่านจดจำก็จะดีมากครับ เช่น “แต่ทั้งหมดที่เล่ามานี้มันจะไม่มีประโยชน์อันใด หากไม่ลงมือทำ” หรือ “สื่อที่ไร้จรรยาบรรณ ท้ายที่สุดก็ไม่ต่างอะไรกับกระดาษเปื้อนหมึก”
- เขียนจบแล้วใส่ Call to action ด้วย – คำว่า Call to action คือการเรียกร้องให้คนอ่านทำอะไรสักอย่างครับ เช่น “ถ้าสนใจก็ลงชื่อสมัครสมาชิกไว้สิครับ” “ถ้าชอบช่วยกดแชร์ด้วยนะครับ” “อ่านจบแล้วคิดเห็นอย่างไรทิ้งความคิดเห็นไว้ด้านล่างนี้ด้วยนะครับ” มันจะทำให้เนื้อหาของคุณมีคนโต้ตอบด้วย และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
- อย่ารีบ – เขียนจบแล้วอย่าเพิ่งโพสต์ทิ้งไว้ 1-2 วันเราจะเห็นว่าสิ่งที่เขียน ยังปรับให้ดีได้มากกว่าเดิมเสมอ
- เขียนด้วย single minded message – การเขียนบทความใดบทความหนึ่ง ควรจะมีใจความของบทความนั้นๆ เพียงอย่างเดียว คืออ่านจบแล้วสามารถบอกได้ว่า Blog นี้จะสื่อสารอะไร เพราะคนเราวันๆ ก็มีเรื่องต้องคิดเยอะอยู่แล้ว ถ้าเขียนซับซ้อนไปก็จำยากครับ
- จงกล่าวถึง Blogger คนอื่นบ้าง – การเขียน Blog ไม่ใช่การเขียนหนังสือแบบสมัยก่อน แต่คุณยังมี Blogger ร่วมอาชีพอีกมากมาย ถ้าคุณ mention หรือกล่าวถึงคนเหล่านั้น ก็จะทำให้บทความของคุณดูหลากหลายมากขึ้น และเขาคนนั้นมักจะได้กลับมาอ่านพบว่าคุณกล่าวถึงเขาด้วย ในบทความถัดๆ ไปเขาก็อาจจะกลับมากล่าวถึงคุณในทางกลับกัน
- รู้จักจดสรุป – หนทางสู่การเขียนเก่ง คือการอ่านมาก ฟังมาก พูดคุยให้มาก จากนั้นก็หัดจดสรุปมาปรับใช้กับตัวเราเองครับ อันนี้ฟังดูง่ายๆ แต่หลายคนไม่ได้ทำ
- Writing is like a boxing, you know how to yap regularly, smart hook, and strong uppercut. – ผมเคยอ่านหนังสือ Jab, Jab, Jab, Right Hook: How to Tell Your Story in a Noisy Social World ของ Gary Vaynerchuk เขาเปรียบว่าการทำการตลาดบน Social media เหมือนต่อยมวย เราควรจะปล่อยหมัดแย๊บที่มีความถี่บ่อยๆ ให้คนจำและ engage จากนั้นต้องมีหมัดฮุค (เพื่อปิดการขายบ้าง) ผมเลยนึกต่อยอดเล่นๆ ว่าสำหรับเมืองไทย น่าจะแย๊บแบบเบาๆ ด้วย micro-content บน Facebook หรือทวีตบ่อยๆ จากนั้นให้ออกหมัดฮุค ด้วยการเขียน Blog ที่เป็น Long-form content ที่มีการคิดวิเคราะห์ลึกๆ ให้น่าติดตาม และปิดการขายด้วยการบอกให้คนไปซื้อสินค้าและบริการของคุณ อันนี้ถือว่าเป็นหมัด Uppercut
- จินตนาการว่าหลังคอมพิวเตอร์ หลังจอมือถือของเรา มีคนรออ่าน รอชมเรื่องที่เราจะเขียนทุกวัน ดังนั้นต้องเขียนทุกวัน – อันนี้เป็นสูตรที่ผมใช้มานาน ถ้าเราคิดว่าเขียนๆ ไปเถอะ เดี๋ยวคงมีคนอ่านบ้าง เราจะเสียกำลังใจ แต่ถ้าคิดว่าหลังจอคอมพ์นี้มีคนที่รอจะอ่านเรื่องของเราจริงๆ ทุกวัน และถ้าคุณไม่เขียน เขาก็จะเสียความรู้สึก มันจะบีบบังคับและกดดันตัวเองเบาๆ ให้คุณเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอ
- ที่เก่าเวลาเดิม – คุณควรจะฝึกฝนนิสัยนักเขียนสักนิด เช่นเช้าตรู่ ก่อนนอน ตั้งตารางเวลาประจำวันไว้ว่าวันหนึ่งๆจะใช้เวลาผลิต Content เมื่อไหร่ ทำเป็นประจำให้เป็นนิสัย
- รักษาความน่าเชื่อถือสูงสุด – สิ่งสำคัญของ Blogger คือการรักษาความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าคุณจะเป็น Blogger ที่เก่งแค่ไหน หากไม่สามารถรักษาความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ ข้อคิดข้อเขียนของคุณจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อ่าน
- อย่าจำกัดตัวเองอยู่แค่ Blog – ยุคนี้ใครที่บอกว่าตัวเองคือ Blogger แน่นอนว่าคนๆ นั้นมักจะมีความชื่นชอบ และความเชี่ยวชาญอะไรสักอย่าง แต่ในยุค Social media ครองเมือง ผมอยากให้คุณขยายตัวเองออกไปให้กว้างที่สุด เช่น เขียน Blog บน WordPress, Blogger, Bloggang, Exteen, OkNation แล้วก็ออกไปใช้ Social media อื่นๆ บ้าง เช่น Facebook, Twitter ตามแต่กลุ่มเป้าหมายของคุณจะสนใจ
หัวใจสำคัญของการเขียนบล็อก คือ การเขียนเนื้อหาที่โดนใจ และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน มากกว่าบล็อกที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อ SEO เพียงอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อคุณทราบหลักการในการเขียนบล็อกให้ช่วยด้าน SEO แล้ว อย่าลืมจำลองตัวคุณเป็นผู้อ่านอย่างสม่ำเสมอ และปรับแต่งบล็อกให้อ่านง่าย และได้ความรู้ ผสมผสานกับการวางคีย์เวิร์ด ที่จะช่วยให้สามารถติดอันดับได้ง่ายบน Google ค่ะ